ชงกาแฟอย่างไรให้อร่อย


How to brew coffee is delicious:
     ที่อาจหาญโปรยหัวเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เป็นมือโปรที่สามารถหยั่งรู้ความอร่อยของกาแฟสำหรับทุกๆคนหรอกครับ เพียงแต่อยากจะชักชวนผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ มาชงกาแฟดื่มเอง การปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มด้วยตนเอง จะถูกปากและรู้ว่าตนชอบอย่างไร นี่แหละคือความอร่อย เป็นเรื่องเฉพาะตัีว
         ในการชงกาแฟเพื่อเลือกเสพให้ถูกปากถูกใจตัวเองมากที่สุด และเข้าใจถึงรสชาติระดับสากลด้วย ที่เขาถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับระดับสากลมีอยู่อย่างไรบ้าง มีวิธีการ หรือตัวแปร และปัจจัยที่จำเป็นอะไรบ้างที่มากำหนดให้กาแฟอร่อย เรามาทำความเข้าใจไปที่ละอย่าง เพื่อเลือกสรรสิ่งที่ดีเยี่ยมเพิ่มความสุนทรีย์ให้กับชีวิต

        ปัจจัยหลักที่จำเป็น 5 อย่าง
                (All coffee brewing there are 5 basic things you want to know:)
         1. เรื่่องของเมล็ดกาแฟ (Bean)
         2. เรื่องการบดเมล็ดกาแฟ (Coffee Grind size)
         3. ปริมาณที่เหมาะสม (Brew ratio,coffee dose and water dose)
         4. น้ำและอุณหภูมิของน้ำ (Water and Water temperature )
         5.  วิธีกลั่นกาแฟ แบบต่างๆ (production methods) และเวลากลั่น(contact time)

1. เรี่องของเมล็ดกาแฟ (Bean)
         เมล็ดกาแฟถือว่าเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุด เป็นตัวกำหนดหลักว่ากาแฟแก้วนั้นเมื่อชงออกมาแล้วจะอร่อยหรือไม่ เราจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับเมล็ดกาแฟเล็กน้อย เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกสรรเมล็ดกาแฟที่ดีมาใช้ กาแฟมีมากกว่า 6,000 พันธุ์ พันธุ์หลักๆที่นิยมกันมีสองสายพันธุ์คือ อราบิก้า(Arabica) และ โรบัสต้า(Robusta)ขอแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้
         เริ่มจากสายพันธุ์เลือดอราบิก้าบริสุทธิ์
    - ทิปปิก้า(Typica) เป็นพันธุ์กาแฟเลือดบริสุทธิ์รุ่นแรกๆ 
    - เบอร์เบิ้น(ฺBourbon) กลายพันธุ์มาจากทิปปิก้า
    - SL-28 เบอร์เบิ้นที่คัดสรรปลูกในเคนยา เช่น เอสเตต เคนยา(Estate Kenya)
    - เอธิโอเปียน(Ethiopian)ชนิดของกาแฟที่เรียกซื่อตามพื้นที่ปลูกในเอธิโอเปีย เช่น Yirgacheffe หรือ Geisha ,Harra ,Sidamo
    - มอคคา(Mocha)เป็นพันธุ์หนึ่งที่ดีและเก่าแก่ในโลก ปลูกตามไหลเขาในเยเมน มีซี่อเรียกตามท้องตลาดที่รู้จักกันดีคือ มัตตาริ(Mattari) ,ซานามิ(Sanami)
            กลุ่มที่สอง
    - คาทูรา(Caturra) เบอร์เบิ้นกลายพันธุ์เป็นต้นเตี้ยให้ผลดก
    - คาทุย(Catual)เป็นการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ทิปปิก้า เบอร์เบิ้น และคาทูรา
            กลุ่มที่สาม
    - คาติมอร์(Catimor)สายพันธุ์ที่ได้มีการผสมยีนของโรบัสต้าเข้าไปเพี่อให้มีความต้านทานโรคสูงและให้ผลผลิตมากแบบโรบัสต้า โดยใช้สายพันธุ์มาจากติมอร์ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างอราบีก้ากับโรบัสต้า มาผสมกับอราบิก้าแท้ๆ ตัวอื่น  คีอคาทูรา จึงเรียกกันว่า คาติมอร์ ปลูกกันแพร่หกลายในอเมริกากลาง ประเทศไทยปลูกคาติมอร์เกลือบร้อยเปอรเซ็นต์ โดยปลูกทดแทนพันธุ์อราบิก้าที่เคยปลูกมาก่อนบางไร่ก็มีกาแฟเก่าหลงเหลืออยู่บ้างกลายกาแฟราคาสูง สรุปแล้วบ้านเราเรียกรวมๆว่า อราบิก้า มีคุณสมบัติรวมๆที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี อชิดิตี้สูง บอดี้ปานกลาง คาแฟอินต่ำกว่าโรบัสต้า
     
         พันธุ์โรบัสต้า(Robusta) มักปลูกในบริเวณที่มีความสูงต่ำกว่าอราบิก้า ต้นกาแฟดรบัสต้าปลูกง่ายต้านทานโรคสูงและให้ผลผลิตสูง มีคุณลักษณะกลิ่นฉุนออกป่าๆ ไม่หอมนัก มีรสฝาดขมแข็งที้อ อชิดิตี้ต่ำ มีบอดี้สูงให้ความเข้มข้นในน้ำกาแฟดี คาแฟอินสูง กาแฟโรบัสต้าที่มีมูลค่าสูงที่สุดชนิดหนึ่งได่แก่ โกปี ลูวัค(Kopi Luwak)ของอินโดนิเซียเมล็ดกาแฟถูกเ้ก็บมาจากขี้ของชะมด(Common Palm Civet)ซึ่งกระบวนการย่อยภายในร่างกายชะมดทำให้รสชาติที่ดีเป็นพิเศษ
       ดูสายพันธุ์ในภาพจะเข้าใจมากขึ้น

       นอกจากสายพันธุ์แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณภาพโดยรวมของเมล็ดกาแฟ เช่น แหล่งปลูก พื้นที่ปลูก ส่วนประกอบของดิน ระดับความสูง สภาพภูมิอากาศ การเพาะปลูก การดูแลบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยว ขั้นตอนการแปรรูป
        การผลิตสารกาแฟเป็นอีกวิธีหนึ่่ง ที่กระทำหลังจากการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟแล้ว การผลิตสารกาแฟมี 3 วิธี
                          1.วิธีเปียก (Wet method)
         ทำโดยนำผลกาแฟที่เก็บมา ซึ่งยังสดๆอยู่ นำไปแยกผลที่มีลักษณะไม่ดีออกไป แล้วนำเข้าเครื่องสีเปลือก จากนั้นนำเมล็ดกาแฟมากำจัดเมือก แล้วทำการล้าง เมล็ดกาแฟจะอยู่ในกะลาหรือเปลือกสีเหลืองทอง หุ่มเมล็ดกาแฟสีเขียวหยกอยู่ข้างใน
     - การทำให้เมล็ดกาแฟแห้ง  โดยนำเมล็ดกาแฟที่กำจัดเมือกแล้ว มาใส่ไว้ในถาดที่ทำด้วยตาข่าย แขวนสูงจากพื้นประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต กระจายให้เมล็ดมีความหนา 2 ถึง 3 นิ้ว เปลือกหรือกะลาจะแห้งภายใน 1 ถึง 2 วัน หลังจากนั้นก็นำเมล็ดกาแฟไปตากบนพื้นซีเมนต์ โดยกระจายเมล็ดให่้มีคามหนาประมาณ 3 ถึง 4 นิ้ว ถ้าแสงแดดดีจะใช้เวลาแค่ 7 วันเมล็ดกาแฟจะแห้งสนิท แล้วนำไปสีด้วยเครื่องสีจะได้สารกาแฟ
    กาแฟที่ผ่านกรรมวิธีนี้ จะมีกลิ่นรสสะอาด มีอชิดิตี้สูง บอดี้น้อยถึงปานกลาง

2. วิธีแห้ง (Dry method)
         ทำโดยนำเมล็ดกาแฟไปตากแดด ประมาณ 15 ถึง 20 วัน ซึ่่งลานตากต้องสะอาด และมีแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการตากไม่ควรให้ผลกาแฟสุมกัน จะทำให้รับแสงแดดไม่ทั่วถึง แห้งสนิทแล้วจึงนำผลไปกระเทาะ ได้สารกาแฟตามต้องการ
    กาแฟที่ผ่านกรรมวิธีนี้ กลิ่นไม่ค่อยสะอาด ถ้าจัดการดีไม่ให้เมล็ดกาแฟสุมกันมากเวลาตาก จะได้กลิ่นรสชาติดี หวานฉ่ำ นุ่มนวล มีบอดี้สูง และอชิดิตี้ปานกลาง

3. วิธีแบบผสม(wet and dry method)
         วิธีนี้ได้พัฒนาขี้นใช้ในบราซิล เพื่่อผสมผสานสิ่งที่ดีจากทั้งสองวิธีข้างต้น แต่ยังไม่แพร่หลาย

การคั่วเมล็ดกาแฟ
         ถ้ามีโอกาสเตรียมเมล็ดกาแฟเองจะดีมาก หัดคั่วกาแฟเองด้วยเครื่องมือง่ายๆ (ดูวิธีการคั่วใน Home roasting by Tan) คั่วกาแฟให้ได้ระดับความเข้มที่พอเหมาะกับวิธีชง เช่น ชงด้วยเครื่องเฟรนซ์เพรสควรคั่วระดับอ่อน  ชงด้วยวิธีการดริปคั่วระดับกลาง ถ้าชงด้วยเครื่องเอสเพรสโซ่ส่วนมากจะคั่วระดับเข้ม และมีการผสมผสาน(Blend)กาแฟหลายชนิด เพื่อให้เกิดความซับซ้อนในน้ำกาแฟมากขี้น ถ้าไม่มีโอกาสคั่วกาแฟเอง ก็หาซี้อเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วระดับคั่วต่างกันให้เหมาะสมกับวิธีการชง

การเก็บเมล็ดกาแฟคั่ว
         เมล็ดกาแฟที่คั่วเสร็จใหม่ๆ จะปล่อยสารเคมีจำนวนมากออกมาในรูปของไอน้ำ จะใช้เวลา 1 ถึง 2 วันเพื่อให้ก๊าซเหล่านี้กระจายไป หลังจากนั้นเมล็กกาแฟจะเผยลักษณะกลิ่นรสที่แท้จริงของมันออกมา และยังคงกลิ่นรสชาติที่ดีที่สุดใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อยๆสูญเสียกลิ่นและรสชาติไปกับสิ่งแวดล้อม จนเสื่อมสภาพมีกลิ่นเหม็นหืน
    อากาศ  ความชี้น  ความร้อน  แสง   เป็นอันตรายต่อเมล็ดกาแฟคั่ว เมล็ดกาแฟคั่วระดับเข้มจนมีน้ำมันเคลือบผิวเมล็ดกาแฟ มีโอกาสสัมผัสอากาศมากขึ้น ก่อให้เกิดปฏิกริยากับออกชิเจน ทำให้มีกลิ่นหืน ส่วนเมล็ดกาแฟที่คั่วระดับอ่อนไม่มีน้ำมันเคลือบผิวเมล็ดกาแฟจะเสื่อมสภาพช้ากว่าคั่วระดับเข้ม  ควรเก็บเมล็ดกาแฟไว้ในที่สะอาด และแห้งอยู่ในภาชนะสูญญากาศที่เย็นและทึบแสง ไม่ควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพราะกาแฟจะดูดกลิ่นรสอาหารในตู้เย็น
         สรุป เมล็ดกาแฟดี สดใหม่ แม้จะมีวิธีชงไม่ดีเลิศ ก็ยังดีพอดื่มได้ ส่วนเมล็ดกาแฟที่ไม่ดี ถึงจะมีวิธีขงหรือเครื่องชงราคาหลายแสน มีบาริสต้าที่ชำนาญมาชง ก็ไม่ทำให้กาแฟดีขี้นมาได้

2. เรื่องการบดเมล็ดกาแฟ (Coffee Grind Size)
         ควรซื้อเมล็ดกาแฟที่ยังไม่ได้บด แล้วค่อยมาบดก่อนชง ในทันทีที่เมล็ดกาแฟถูกบดกลิ่นน้ำมันจะแตกตัวหายไปในอากาศ ในขณะที่น้ำมันเหล่านั้นระเหยหายไป กลิ่นกาแฟจะหายไปด้วย  การบดกาแฟทำให้อนุภาคเล็กๆนับพันแตกตัวออกมา และส่งกลิ่นหอมไปในอากาศ แล้วรับเอาออกซิเจนและความชื้นเข้ามาแทน อากาศและความชื้นเป็นศัตรูของความสด แรกสุดเมล็ดกาแฟจะค่อยๆจืดจาง ต่อมาก็เรื่มไม่ค่อยดี เนื่องจากอากาศก่อให้เกิดปฏิกริยารวมตัวกับออกซิเจน(ปฏิกริยาออกซิเดชั่น)ทำให้เกิดกลิ่นหืน
       ความหยาบและความละเอียดของผงกาแฟ ทำให้รสชาติของกาแฟแตกต่างกันออกไป วิธีชงกาแฟแต่ละแบบก็ใช้การบดที่แตกต่างกัน เช่นชงด้วยเฟรนซ์เพรสจะต้องบดกาแฟให้หยาย ชงแบบดริปบดปานกลาง ชงด้วยเครื่องเอสเพรสโซ่บดให้ละเอียดขึ้น เราจะกล่าวถึงเรื่องการบดกาแฟอีกในวิธีชงกาแฟ


  3. ปริมาณที่เหมาะสม(ฺBrew ratio ,coffee dose and water dose)
         อัตราส่วนของปริมาณผงกาแฟกับปริมาณน้ำในกาชงกาแฟ ถ้าผงกาแฟมากน้ำน้อย(Brew ratioมาก)จะได้น้ำกาแฟเข้ม และผงกาแฟน้อยน้ำมาก( Brew ratio ต่ำ) น้ำกาแฟไม่เข้ม การชงกาแฟบางแบบเครื่องชงจะเป็นตัวกำหนดปริมาณผงกาแฟและปริมาณน้ำในการชง เช่นเครื่องชงแบบดริปของเวียดนาม และเครื่องชง มอคคา พอท(Moka pot) ชงบางวิธีก็ต้องกะปริมาณเอาเอง
     - ชงแบบเอสเพรสโซ่ กาแฟ 1 ชอท(shot) ใช้ผงกาแฟบดละเอียดประมาณ 7 ถึง 10 กรัม ได้น้ำกาแฟประมาณ 1 ออนซ์(30 Ml)  ถ้าเอสเพรสโช่ 2 ชอท ใช้ผงกาแฟบดละเอียดประมาณ 14 ถึง 20 กรัม ได้น้ำกาแฟประมาณ 2 ออนซ์(60Ml)
     - ชงแบบเฟรนซ์เพรส ใช้ผงกาแฟบดหยาบ 2 ช้อนโต๊ะใช้น้ำร้อน 6 ออนซ์(180 Ml) ได้น้ำกาแฟ 5 ออนซ์(150 Ml) 
      - ชงแบบดริป ใช้ผงกาแฟบดหยาบปานกลาง 4 ช้อนโต๊ะ ใช้น้ำร้อน 8 ออนซ์(240 Ml) ได้น้ำกาแฟ 6 ออนซ์(180 Ml) 
     ปริมาณที่กล่าวนี้ทดลองชงดื่มแล้วเห็นว่าอร่อยกำลังดี ถ้าใครต้องการความเข้มก็เติมผงกาแฟมากขึ้น ถ้าต้องการอ่อนกว่านี้ก็เติมน้ำมากขึ้น
      ผงกาแฟสกัดน้ำไว้จำนวนมาก ดังนั้นปริมาณน้ำกาแฟที่ได้ จะต่ำกว่าน้ำที่ใช้ชง
       ปริมาณผงกาแฟ และปริมาณน้ำที่ชง(Brew ratio) จะได้กล่าวอีกในวิธีชงกาแฟแต่ละแบบ ที่กล่าวมา เพียง 3 แบบนี้ก็เห็นว่าสามารถชงดื่มเองได้ง่ายๆ

4. น้ำและอุณหภูมิของน้ำ(Water and Water temperature)
         น้ำมีความสำคัญต่อรสชาติของกาแฟ ควรใช้นำกรองที่กำจัดกลิ่นคลอรีนแล้ว คือน้ำดื่มที่สะอาดบริสุทธิ์ น้ำกระด้างจะมีความเป็นด่างเจือปนอยู่ หรือเป็นแร่ที่ด่างละลายอยู่ ซึ่งสามารถทำปฏิกริยากับกรดของผลไม้หรืออชิดิตี้ในกาแฟ กลายเป็นกลาง ทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป น้ำที่มีฟอสเฟตหรือสารประกอบตัวอี่นๆก็ทำให้รสชาติเหมือนสบู่ กาแฟถ้วยนั้นคงไม่น่า่ภิรมย์ 
    ในหนึ่งถ้วยกาแฟจะเป็นน้ำเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เราต้องให้ความสำคัญแก่น้ำเป็นอันดับต้นๆ
         อุณหภูมิของน้ำในการกลั่นกาแฟ จะเริ่มตั้งแต่เป็นน้ำแข็งไปจนถึงน้ำที่มีอุณหภูมิจุดเดือด อุณหภูมิของน้ำต่างกันสามรถสกัดกาแฟได้ในเวลาต่างกัน เช่น กาแฟที่ชงด้วยน้ำแข็ง(Slow drip cold-brewed iced coffee) ชงกาแฟ 1 ชอท(1.5 ลิตร) ใช้เวลา 18 ชั่วโมง แต่ถ้าชงแบบ เตอร์กิช เชสพ์(Turkish cezve)
 กาแฟกรีก ก็ต้มกาแฟที่อุณหภูมิจุดเ้ดือดใช้เวลาแค่อึดใจ เมื่ออุณหภูมิสูงก็ใช้เวลาสกัดน้ำกาแฟเร็วขึ้นกาแฟชงด้วยน้ำเย็นสดใหม่กว่าชงด้วยน้ำอุ่นเพราะในน้ำเย็นมีออกชิเจนอยู่มากกว่า น้ำกาแฟที่ออกมาจึงอร่อยดื่มแล้วสดชิ่นมีชีวิตชีวา   
     

ถ้าต้องการรูปที่ใหญ่ขึ้น คลิกที่นี่
ทีมาภาพจาก http://popchartlab.com/



5. วิธีกลั่นกาแฟแบบต่างๆ (Production Methods)
 และ เวลากลั่น(Contact Time)
         จาก Coffee chart ของ Popchartlab ข้างบนนี้เป็นชาร์ทที่รวบรวมการทำกาแฟตั้งแต่ อุปกรณ์การบดกาแฟ ผงกาแฟบด วิธีกลั่นกาแฟแบบต่างๆ น้ำกาแฟที่ได้ ส่วนผสม จนกลายเป็นเครื่องดี่มกาแฟ ถือว่าเป็นชาร์ทที่สมบูรณ์พอสมควร จึงขอหยิยยกเอาชาร์ทนี้มาทำความเข้าใจร่วมกัน โดยจะเพิ่มเกร็ดความรู้เข้าไปในวิธีชง โดยเน้นเฉพาะวิธีที่เห็นว่าง่ายนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวันโดยประหยัด
         เริ่มจาก อุปกรณ์การบด(Grind apparatus)
     ดูจาก ชาร์ท บนสุดช้ายมือ
    - ครกและสาก(Mortar & Pestle) ในครัวเรานี้เองสามรถนำมาบดกาแฟได้ ผงกาแฟที่ได้จากการตำจากครก จะมีความละเอียดไม่สม่ำเสมอ มีทั้งผงที่หยาบและละเอียด จึงไม่เหมาะกับวิธีชงบางชนิด แต่ก็พอใช้แ้ก้ขัดได้สำหรับเวลาไม่มีเครื่องบดชนิดอื่นจริงๆ
    - เครื่องบดกาแฟด้วยมือ(Hand Grinder)หรือเรียกว่าเครื่องบดมือหมุน เป็นเครื่องบดที่สามรถพกพาไปยังนอกสถานที่ได้ มีประสิทธิภาพพอสมควร บางยี่ห้อผลิตมานาน ทนทานใช้งานได้ดี เช่นเครื่องบดมือหมุน ของเยอรมัน และของฝร้่งเศส มีฟันบดคม รุ่นเก่าบางรุ่นตกมาถึงปัจจุบันยังใช้งานได้ดี  มีการผลิตออกมาใหม่ๆหลายรุ่น รวมทั้งของ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฯ  เครื่องบดมือรุ่นเก่าบางรุ่นไม่สามารถบดกาแฟให้ละเอียดเพื่อชงในเครื่องเอสเพรสโซ่ได้ ปัจจุบันมีหลายยี่ห้อที่สามรถบดกาแฟได้ละเอียดถึงละเอียดมาก  สาระสำคัญของเครื่องบดมือหมุนที่ถือว่าดีนั้ไม่ได้วัดกันที่ความหยาบหรือความละเีอียดของผงกาแฟ เครื่องบดมือหมุนที่ดีสามรถบดกาแฟออกมาได้ผงกาแฟที่สม่ำเสมอถึงหยาบก็หยาบเท่าๆกันถือว่าดี วิธีการชงกาแฟบางชนิดไม่ต้องการผงกาแฟที่ละเอียดเลย
    -เครื่องบดแบบ Grinder Burrs มี 2แบบ
           - แบบ  Parallel burrs  หรือเรียกอีกชื่อว่า Flat  เป็นจานฟันบดสองจานขนานกัน
           - แบบ Conical burrs มีฟันคล้ายกรวยตัวผู้และตัวเมียสวมกัน
    เครื่องบดแบบ grind burrs นี้เป็นเครื่องบดใช้มอเตอร์ไฟฟ้ารอบต่ำบดกาแฟได้ผงกาแฟละเอียดถึงละเอียดมากสามารถปรับความหยาบและละเอียดของผงกาแฟได้ตามต้องการ และใช้สำหรับเครื่องชงเอสเพรสโซในปัจจุบัน มีความสำคัญไม่ด้อยกว่าเครื่องชงเลย
    - เครื่องบดแบบใบมีด (ฺBlade Grind) เป็นเครื่องบดแบบใบมีดหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าความเร็วสูง
ม้นก็คือเครื่องปั่นอาหารที่ใช้ในครัวเรือนน้่นเอง  ผงกาแฟที่ได้จากเครื่องบดชนิด นี้มีทั้งหยาบและ
ละเอียดพร้อมกันไม่สม่ำเสมอ เกิดความร้อนในผงกาแฟ เพราะใบมีดหมุนตัดเมล็ดกาแฟด้วยความเร็วรอบสูง ถือว่าบดได้แต่ไม่ดีควรหลีกเลี่ยง
    ต่อมาดูภาพด้านบนขวามือสุด คือภาพผงกาแฟบด(Grind Coffee) เป็นรูปถุงกาแฟ สัญลักษณ์แทนผงกาแฟบด มี 7 ระดับ จากผงกาแฟหยายที่สุด(Extra coarse) ถึงผงกาแฟละเอียดที่สุด(Extra fine)โดยใช้สีกำกับแต่ละระดับเพื่อสะดวกในการอ่าน ชาร์ทภาพประกอบวิธีชงต่อไป(แต่ไม่ได้บอกถึงระดับการคั่วของกาแฟ)

วิธีชง (Production Methods)
            มีวิธีชงกาแฟอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ดังนี้
         1. Steeping วิธี การแช่ หรือจุ่มผงกาแฟในน้ำ
         2. Pour-Over/Drip วิธีรินน้ำ หรือหยดน้ำใส่ผงกาแฟ
         3. Steeper/Vacuum  วิธีใช้เครื่องแช่และสูญญากาศ
         4. Pressure/Vacuum วิธีใช้ความดันและสูญญากาศ


กลุ่มที่  1.steeping  แช่ ผงกาแฟในน้ำ



     ดู จาก ชาร์ท 
            1.Turkish cezve เตอรกิช เชสพ์  กาแฟ กรีก (Greek coffee) ชงโดยการต้มผงกาแฟที่ละเอียดมากพร้อมกับน้ำใน ไอบริก(ฺBriki) ซึ่งเป็นหม้อเล็กๆ ทำด้วยทองแดง หรือทองเหลือง บางอันทำด้วยสแตนเลส เป็นหม้อเล็กๆปากแคบก้นเป็นกระเปาะกว้าง ดังภาพข้างบน (ดูในชาร์ทมีรูปหม้อชงไอบริก และมีถุงผงกาแฟสีดำบอกถึง ผงกาแฟละเอียดมาก Extra fine อยู่ด้านบน) นิยมใช้เสริฟแก้วละ 2 ออนซ์
     วิธีชง  1. เตรียมถ้วยสำหรับตวงน้ำขนาด 2 ออนซ์ ใช้ตวงน้ำเย็นลงในหม้อไอบริกหลายถ้วยตามต้องการว่าจะชงกี่ที่ โดยใช้ผงกาแฟบดละเอียดมากปริมาณ 1ช้อนชาต่อปริมาณน้ำ 2 ออนซ์
     -เติมเครื่องเทศ และน้ำตาล 1ช้อนชาสำหรับผู้ที่รับประทานหวาน
     -ถ้าต้องการกาแฟเข้มข้นและหวานก็เติมน้ำตาล 3 ช้อนชา และผงกาแฟ 2 ช้อนชา ต่อปริมาณน้ำ 2 ออนซ์
                 2. ใช้หม้อไอบริกต้มบนไฟใช้ความร้อนปานกลาง ใช้ช้อนคนกาแฟและน้ำตาลให้เข้ากัน รอสักครู่จนกาแฟบลูมขึ้นมาเกลือบล้นหม้อไอบริก แล้วถอยหม้อไอบริกออกมาจากไฟปล่อยให้โฟมกาแฟและน้ำตาลที่บลูมยุบลงไป แล้วเอาหม้อไอบริกใส่ไฟอีกรอให้กาแฟบลูมขึ้นมาอีก และถอยหม้อไอบริกออกให้โฟมกาแฟยุบอีก ทำแบบนี้ 3 รอบ แล้วถอยหม้อไอบริกออกรอประมาณ 1 นาที แล้วรินน้ำกาแฟใส่ถ้วยเล็กๆประมาณ 2 ออนซ์ โดยไม่กรองกากกาแฟออก เสริฟทันทีพร้อมน้ำเย็น 1 แก้ว รสชาติเข้มข้นกลิ่นหอม(contact time คือช่วงเวลาชงสั้นมาก)
.

         2.Cupping การชิมกาแฟ เพื่อทดสอบคุณภาพและลักษณะกลิ่นรสที่แท้จริงของกาแฟ โดยใช้ผงกาแฟหยาบปานกลาง ดูวิธีชงในบล็อกนี้ เรื่อง "ชิมกาแฟกับ ตาณ"



            3.Toddy cold brew ชงกาแฟด้วยน้ำเย็นเครื่องชงมีสองส่วน ส่วนบนเป็นโถใส่ผงกาแฟ มีฟิลเตอร์ให้น้ำหยดลงขวดแก้ว กาแฟที่ชงด้วยน้ำเย็นนี้จะได้กาแฟเข้มข้น โดยใช้กาแฟบดหยาบมาก(Extra coarse) 12 ออนซ์ต่อน้ำ 7 ถ้วย(56 ออนซ์)
       Brewing วิธีชง 1.เติมน้ำ 1 ถ้วยตวงลงในเครื่องชงก่อน แล้วตามด้วยผงกาแฟ 6 ออนซ์ ค่อยรินน้ำประมาณ 3 ถ้วยลงบนผงกาแฟบด โดยวนเป็นวงกลมหรือแบบก้นหอยก็ได้ เหลือผงกาแฟอีก 6 ออนซ์ เติมตามลงไปอีก รอประมาณ 5 นาที แล้วค่อยๆ รินน้ำที่เหลืออยู่อีก 3 ถ้วยตวงคอย่ๆ รินโดยวิธีเดิมจนหมด ห้ามคนผงกาแฟกับน้ำเพราะอาจทำให้ฟิลเตอร์อุดตันได้ ให้ใช้ช้อนกดผงกาแฟที่ยังอยอยู่ให้จมลง
                               2.ชงโดยกาแช่ผงกาแฟบดในน้ำ 12 ถึง 18 ชั่วโมง เพื่อสร้างความนุ่มนวลและรสชาติที่ดีเยี่ยมด้วยการกรอง เมื่อน้ำกาแฟหยดจนหมดก็ได้เวลาหนุนโถใส่กาแฟชิ้นบนออกจากขวดแก้ว ที่มีน้ำกาแฟเข้มข้น เทใส่ขวดปิดสนิทเก็บไว้ในตู้เย็นดื่มได้ 2 สัปดาห์
                                3. วิธีเสริฟ เริมจากผสมกาแฟที่เข้มข้นต่อน้ำหรือนม 2 ถึง 3 ส่วน ชิมได้รสดีรินใส่น้ำแข็งเป็นกาแฟเย็น ถ้าต้องการดื่มร้อน ก็ใ้ห้ สตีม(steam)นมผสมกาแฟจะได้กาแฟร้อน



         4. EVA Cafe Solo อีวา คาเฟ โซโล  
               อีวาเดนมาร์ค( EVA Denmark) มีมาประมาณ ค.ศ. 1913  ได้พัฒนามาเป็น EVA Solo เป็นยี่ห้อของบริษัทที่เติมคำว่า Solo ขึ้น ( Soloแปลว่าหนึ่ง คงหมายถึงกาแฟหนึ่ง ชอท (shot))
     อีวา โซโล  คาเฟ โซโล เป็นโถขวดแก้ว(Brew pot) ใส่ไว้ในถุงหนังมีซีปไว้รูดปิดรักษาความร้อน ดังรูปข้างบนนี้ โถแก้วมีความจุ 1.25 ลิตร(ประมาณ 40 ออนซ์) มีชุดฟิลเตอร์มีลิ้นปิดเปิดเวลารินเอาน้ำกาแฟ(Filter Funnel and Flip Top Lid)   เป็นวิธีชงในกลุ่ม Steeping คือปล่อยให้กาแฟแช่อยู่ในน้ำร้อนในระยะเวลาที่กำหนด ประมาณ 4 นาที
          Brewing วิธีชง  - Preheat อุ่นโถแก้ว ขณะเดียวกันก็ต้มน้ำร้อน 1 ลิตร(32 ออนซ์)
                                   - ใช้ผงกาแฟบดละเอียด(Fine grind )ถุงสีเทาตามรูปในชาร์ท 8 ถึง 10 ช้อนโต๊ะ(ประมาณ 45 ถึง 60 กรัม)ใส่ลงในโถแก้วชงกาแฟ
                                   - เติมน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 90 ถึง 96 ํ C  รินน้ำร้อนใส่ผงกาแฟอย่างช้าๆ ให้ผสมกับผงกาแฟ ปริมาณน้ำก่อนถึงคอขวดประมาณ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันกาแฟบลูมล้นโถขวดแก้ว (Blooming or Foam building) รอดูถ้าไม่บลูมมากก็เติมน้ำร้อนให้หมด
                                   - ใช้ไม้พายเล็กๆ หรือช้อนคน ให้น้ำร้อนและผงกาแฟผสมกัน คนประมาณ 10 ถึง 20 วินาที
                                   - ใส่ฝาปิดชุดฟิลเตอร์ รูดซีปปิดโถขวดแก้ว รอประมาณ 4 นาที
                                   - ได้เวลารินเสริฟ


 

         5.French Press เฟรนซ์ เพรส หรีอ Press pot การชงกาแฟด้วย เพรส พอท เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ง่ายและให้ความเพลิดเพลินกับกาแฟถ้วยโปรดที่บ้าน เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เป็นการชงกาแฟที่สามารถดึงเอาเอกลักษณ์ที่แท้จริงของกาแฟออกมาได้อย่างเต็มที่ รสชาติกาแฟที่แท้จริงจะแสดงออกมาได้อย่างโดดเด่น เป็นการชงกาแฟด้วยวิธี แช่เต็มรูปแบบ หมายถึงกาแฟจุ่มอยู่ในน้ำตลอดเวลาในการชง การชงกาแฟแบบนี้ กาแฟจะมีบอดี้เต็ม และรู้สึกเต็มอิ่มเมื่อดื่ม
          วิธีชง ใช้ผงกาแฟบดหยาบปานกลาง(coarse medium) ใช้อัตราส่วนผงกาแฟ 16 กรัม หรือ 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 8 ออนซ์
          ขั้นตอนที่ 1 ใช้น้ำบริสุทธิ์ ต้มน้ำให้เดือด ปล่อยทิ้งไว้ 30 วินาที หรืออุณหภูมิ 90 ถึง 96 องศา ซี อุ่นเครื่องชงด้วยน้ำร้อน ใส่ผงกาแฟลงในเครื่องชง
          ขั้นตอนที่ 2 รินน้ำร้อน ประมาณ 3 ใน 4 ส่วนลงผสมกับผงกาแฟในเครื่องชงด้วยความแรงพอสมควรเพื่อให้น้ำผสมกับผงกาแฟได้ทั่วถึง คนกาแฟสัก 3ถึง 4 รอบ ปล่อยไว้ให้กาแฟบลูม ตั้งเวลา 4 นาที
          ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกาแฟบลูมแล้วรินน้ำร้อนที่เหลือลงบนกาแฟในเครื่องชงจนหมด
          ข้ันตอนที่ 4 ใส่ฝาปิดเครื่องชง รอจนกระทั่งได่เวลา 2 นาที แล้วเปิดฝาเครื่องชงคนสัก 2 - 3 รอบ
รอจนได้เวลา 3นาที ครึ่ง  เริ่มกดก้านกดเครื่องชงลงช้าๆ อย่างสม่ำเสมอโดยใช้เวลา 20 - 30 วินาทีให้ก้านอัดลงสุดพอดี
          ขั้นตอนที่ 5   รินกาแฟเสริฟทันทีเมื่อชงเสร็จ ถ้าปล่อยกาแฟแช่อยู่กับน้ำจะมีรสขม

    



      6. Clever  หรือ The Clever coffee dripper  ดูรูปข้างบน เป็นวิธีการกลั่นกาแฟแบบกึ่งแช่ (Steeping) คล้าย เฟรนซ์ เพรส กับ การเท หรือหยด น้ำร้อน ใส่ผงกาแฟบด (Pour-over/drip) คล้ายกับ Kone และ V60  นั้นก็คือการเทน้ำร้อนใส่ผงกาแฟบดแล้วก็แช่ไว้ก่อนระยะเวลาหนี่ง แล้วค่อบปล่อยผ่าน ฟิลเตอร์ ให้น้ำกาแฟไหลโดยแรงโน้มถ่วงของโลกสู่ภาชนะที่รองรับ เช่น แก้วกาแฟ หรือ โถ เป็นการควบคุมระยะเวลาผงกาแฟแช่อยู่ในน้ำร้อนระยะหนึ่งได้ตามต้องการ คือควบคุม contact time ได้ ดีกว่าการชขงแบบริน (pour/drip) โดยทั่วไป ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 4 นาที เท่ากับ เฟรนซ์ เพรส  รสชาติของกาแฟใกล้เคียงกับการชงแบบ เฟรนซ์ เพรส แต่ได้กาแฟสะอาดกว่า(clean cup) ทำความสะอาดเครื่งชงได้ง่ายกว่าเฟรนซ์ เพรส  รสชาติของกาแฟมีความสมดุลกลมกร่อม ดื่มเต็มปากเต็มคำ เพราะ บอดี้สูง อาฟเตอร์เทสดีเลิศ
     รูปร่าง เครื่องชง Clever coffee dripper ก็ดูคล้ายกับเครื่องดริปด้วยมือทั่วๆไป เช่น V60  แต่ clever จะถูกออกแบบให้มีกลไกปิกเปิดที่ด้านใต้ของเครื่องชง เมื่อวางเครื่องชงบนภาชนะรองรับ เช่น ถ้วยกาแฟ หรือ โถ ลิ้นจะเปิดให้น้ำกาแฟในเครื่องชงไหลผ่าน ฟิลเตอร์ ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกสู่ภาชนะรองรับ
     วิธีชง ใช้ผงกาแฟบดหยาบปานกลาง(coarse medium)  ปริมาณ 2 กรัม ต่อน้ำทุกๆ 1 ออนซ์  โดยเราใช้น้ำร้อน 12 ออนซ์ (360 ml) ต่อผงกาแฟบด 24 กรัม(ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ) 
     ขั้นตอนที่ 1  ใช้น้ำบริสุทธิ์ ต้มให้เดือด ปล่อยทิ้งไว้ 20 วินาที หรืออุณหภูมิ 93 - 96 องศา ซี  ใส่ฟิลเตอร์บนเครื่องชง และลวกด้วยน้ำร้อน แล้ววางเครื่องชงบนถ้วยกาแฟ หรืโถ เพื่อเดนน้ำทิ้ง ยกเครื่องชงออกมาวางบนพื้นเรียบ ใส่ผงกาแฟบดลงในเครื่องชง
     ขั้นตอนที่ 2 เริ่มต้นชง โดยตั้งเวลา 4 นาที เริ่มรินน้ำร้อนที่เตรียมไว้บนผงกาแฟในเครื่องชงดว้ยความแรงพอสมควรให้ผงกาแฟเปียกจนทั่ว การรินน้ำร้อนข้อนข้างแรงนี้แหละเป็นเหตุให้กาแฟ บลูม(ตอนหัดชงใหม่ๆ ค่อยๆริน กาแฟไม่บลูม) ขั้นตอนนี้เรียกว่า pre-infusion คือการกระตุ้นให้กาแฟตื่นตัว  รอประมาณ 30 วินาที กาแฟเริ่มบลูม แล้วรินน้ำร้อนที่เหลือ วนเป็นก้นหอยจากกลางเครื่องชงถึงขอบนอกเพื่อให้น้ำร้อนผสมกับกับกาแฟอย่างทั่วถึง
  ขั้นตอนที่ 3 ปิดฝา clever เพื่อรักษาอุณหภูมิเครื่องชง  รอจนถึงนาทีที่ 3 เปิดฝา clever คนกาแฟ เบาๆ 6-7 รอบ เพื่อให้เมื่อกน้ำกาแฟไหลจะได้ความเข้มสม่ำเสมอ เปิดฝา clever ไว้แล้ววางเครื่องชงบนถ้วยกาแฟ หรือ โถ เพื่อเดนน้ำกาแฟผ่านฟิลเตอร์ จะใช้เวลาประมาณ 1 นาที หลังลิ้น clever เปิด ถ้าความหยาบของผงกาแฟพอดี การชงทั้งขบวนการจะใช้เวลา 4 นาทีพอดี 
     ขั้นตอนที่ 4 ทำความสะอาดเครื่อง clever ง่ายมาก โดยการรวบฟิลเตอร์พร้อมกากกาแฟทิ้ง แล้วใช้น้ำร้อนลวก clever เพื่อทำความสะอาดเป็นการเสร็จ

กลุ่มที่ 2. Pour-Over/Drip  รินน้ำ หรือหยดน้ำใส่ผงกาแฟ





               
              1. Kyoto Dripper  or  Ice drip  ไอซ์ ดริป
     ดู รูปใน ชาร์จ และตามรูปข้างบนนี้ เป็นเครื่องไอซ์ดริปแบบตั้งรุ่นแรกๆที่ผลิตในญี่ปุ่น โดยให้น้ำแข็งที่ละลายเป็นน้ำหยดลงบนผงกาแฟอย่างช้าๆ ขนาด 1.5 ลิตร ใช้เวลากลั่น 14 ชั่วโมง   ในปัจจุบันมีหลายบริษัทผลิตเครื่องกลั่นแบบ ไอซ์ดริป ขนาดเล็ก พอเหมาะ ขนาด 500 ml และ 600 ml  ใช้เวลากลั่นประมาณ 3 ถึง 5 ชั่วโมงเท่านั้น
     Ice Dripper เครื่องกลั่นมีส่วนสำคัญแยกออกเป็น 3 ส่วน (ดูรูปข้างบนประกอบ) ส่วนบนสุดเป็นที่ใส่น้ำแข็งมีก๊อกปรับหยดน้ำแข็งที่ละลายแล้วอยู่ด้านล่างเป็นกลไกที่สามารถปรับหยดน้ำได้   ส่วนที่สองที่อยู่ตรงกลาง เป็นกระเปาะแก้วที่ใส่ผงกาแฟ และมีฟิลเตอร์อยู่ด้านล่าง ส่วนล่างสุดเป็นโถใส่น้ำกาแฟที่กลั่นแล้วให้หยดลงในโถนี้
     รสชาติของกาแฟที่ได้ จะเป็นน้ำกาแฟที่ใสสะอาด นุ่มลึก ประดุจด้่งน้ำอมฤต หอมมากๆ ความหอมจะเป็นจุดเด่นทีเป็นเอกลักษณ์ของวิธีกลั่นแบบนี้ สดชื่น  รสนุ่มนวล ละเอียดอ่อนที่มีความสมดุลมาก มีอชิดิตี้อ่อนนุ่ม บอดี้กลมกล่อม แสดงออกได้ชัดเจนถึงธรรมชาติแหล่งปลูก และวิธีคั่ว ทดลองชิมเปรียบเทียบ(Blind Cup) กับการดริปแบบธรรมดา การดริปด้วยน้ำร้อน 93.33 องศา ซี จะสกัดอเอาสารในโมเลกูลที่อยู่ในผงกาแฟออกมาได้เข้มข้นกว่าและต่างชนิดกับการดริปด้วยน้ำแข็งอุณหภูมิ 0 องศา ซี น้ำกาแฟจากไอซ์ดริปจะมีออกชิเจนมากกว่าและสารบางตัวที่ยังไม่ถูกความร้อนทำลายจึงมีความสดชื่นมากกว่าหลายเท่า อีกด้านหนึ่งสารที่ได้โดยความแตกต่างของอุณหภูมิอยู่ในถ้วยกาแฟสองแก้วจึงมีความแตกต่างกันมาก contact time(ระยะเวลาผงกาแฟอยู่กับน้ำ) ก็ต่างกัน ต้องลองเอง
     วิธีชง 1.ใส่ผงกาแฟ ใช้ผงกาแฟบดหยาบปานกลาง(coarse medium) ในอัตราส่วน ผงกาแฟ 12 กรัม ต่อน้ำกาแฟที่ได้ 120 ml.  เราใช้กาแฟ 60 กรัม ได้น้ำกาแฟ 600 ml(20 ออนซ์) ใช้เวลากลั่น เพียง 4 ชั่วโมง
                2. ใส่ฟิลเตอร์ ใช้ฟิลเตอร์กระดาษวางบนผงกาแฟในเครื่องชง เพื่อให้น้ำเย็นที่หยดลงมากระจายได้ทั่วถึง
                3. ใส่น้ำแข็งในโถ ใส่น้ำแข็งในโถด้านบนจนเต็ม
                4. เริ่มต้นกลั่น จับเวลา และเติมน้ำเย็นบนน้ำแข็งเล็กน้อยเพื่อเริมต้นกลั่น
                5. ปรับหยดน้ำ ปรับหยดน้ำแข็งที่ละลาย ปรับที่ก๊อกด้านล่างของโถใส่น้ำแข็งให้ได้ประมาณ 1 หยดต่อ 1 วินาที หรือช้าก่วาเล็กน้อย( 40หยด ต่อหนึ่งนาที) จะใช้เวลากล้่นประมาณ 4 ชั่งโมง
                6. ขณะกลั่น ผงกาแฟจะเปียกชุ่มจนทั่วภายใน 20 นาที และกาแฟหยดแรกซึ่งเข่มข้นมาก จะหยดลงในโถรองรับ และหยดต่อเนื่องอย่างช้าๆ
                7. ในเวลา 3 ชั่วโมงต่อมา น้ำแข็งละลายไปมากแล้ว เราสามารถเติมน้ำแข็งในโถได้อีก
                8.เมื่อระดับน้ำกาแฟ ในโถได้ 600 ml  ก็เป็นเวลาสิ้นสุดการกลั่น จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ได้เวลาลิ้มรสกาแฟที่รอคอย เหลือใส่ขวดเก็บในตู้เย็นไว้ดื่มได้ 1สัปดาห์ รสชาติยังดี
   
     
               


          2. Chemex เครื่องชง เชเมคซ์
     เครื่องชง Chemex ออกแบบโดย ปีเตอร์ สคลัม บอห์ม ( Peter Schumbohm )    นักเคมี
ขาวเยอรมันเขามีจุดประสงค์เพื่อจะสร้างเครื่องกลั่นกาแฟให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ไม่เพียงแต่กลั่นกาแฟได้ดีเยี่ยมเท่านั้น แต่ให้มีความสวยงามอีกด้วย เครื่องชงสวยงามมากอย่างที่เห็นในรูปด้านบนนี้ จนถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ศิลปสมัยใหม่ ที่นิวยอร์ค ประเทศอเมริกา
     เครื่องชง Chemex เป็นโถแก้วปากกว้าง (ผู้สร้างน่าจะได้แบบมาจากเครื่องมือในห้องวิจัยเคมี)น้ำกาแฟที่ได้จากเครื่องชง  chemex บางครั้งน้ำกาแฟจะขมเล็กน้อย เพราะกระบวนการชงต้องใช้ฟิลเตอร์อย่างหนา และใช้เวลาชงนาน ซึ่งจะทำให้น้ำกาแฟสะอาด และมีความหวาน พื้นฐานความรู้ในการชงด้วยเครื่องชง Chemex จะนำเอาข้อดีข้อการชงแบบ เพรส พอท (press pot ) บวกกลับข้อดีของ การชงแบบ แมนนวล ดริป ( manual drip )  โดยปราศจากข้อเสียท้ังสองแบบ
     การชงแบบ Manual drip หรือการชงแบบ pour-over การรินน้ำร้อนบนผงกาแฟนี้ เป็นศิลปอย่างหนึ่งที่สำคัญยิ่ง มีคุณลักษณะหลายอย่างที่ต้องควบคุมในการกลั่นกาแฟ ซึ่งแตกต่างจากการชงแบบ ออโต ดริป (Auto drip ) การชงกาแฟทุกครั้งจะเหมือนเดิม ทั้งอุณหภูมิของน้ำร้อน และเวลาในการชง ส่วนการชงแบบ  Manual drip สามารถเปลี่ยนวิธีชงให้เหมาะสมกับกาแฟแต่ละชนิด แต่มีข้อเสีย ถ้าคุณไม่สามารถพัฒนาวิธีการชงให้ได้เสมอต้นเสมอปลาย คือการชงให้ได้รสชาติเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงกันทุกครั้ง
     กุญแจในการทำให้กาแฟอร่อย จากการชงแบบ Manual drip  หรือการชงด้วยวิธีอี่น ๆ คือการควบคุมความคงที่ ปัจจัย ให้สม่ำเสมอทุก ๆครั้งที่ชง ต้องม้่นใจว่าการกลั่นกาแฟของคุณต้องคงที่ เสมอต้นเสมอปลาย ทั้งเวลาการกลั่นและอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ชง ฟิลเตอร์ที่ใช้ ถูกต้อง กาแฟคุณภาพสูง สดใหม่ ผงกาแฟบดได้ขนาดพอดี และเวลาการกลั่นที่ถูกต้อง รูปแบบการชงที่ถูกต้อง  คุณสามรถประกันได้ว่าครั้งหนึ่งคุณเคยชงกาแฟไม่ได้เรื่องเลย แต่กลายมาเป็นเรื่องธรรมดาและง่ายมากในทำให้กาแฟอร่อย กลายเป็นเรื่องหมู ๆ สำหรับคุณเสียแล้ว

                  ขั้นตอนในการชงด้วยเครื่อง Chemex
     ขั้นตอนที่ 1. Preheating     อุ่นเครื่องชง chemex 
         เตรียมฟิลเตอร์ ซึ่งอาจมีสามชั้น เพื่อป้องกันการแตกทะลักของน้ำกาแฟ วางฟิลเตอร์บนเครื่องขง ทำความสะอาดฟิลเตอร์โดยรินน้ำร้อนผ่านฟิลเตอร์ และอุ่นเครื่องชง Chemex  ให้อุ่น พร้อมกันนี้อุ่นแก้วใส่กาแฟด้วยเลย ยกฟิลเตอร์ออกเทน้ำในเครื่อง Chemex ทิ้ง ใส่ฟิลเตอร์กลับ
     ขั้นตอมที่ 2. Dosing   เตรียมผงกาแฟ
       บดผงกาแฟละเอียดปานกลาง ใช้ปริมาณกาแฟ 40 กรัม (หรือ 5 ถึง 6 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 20 ออนซ์ (หรือ 600 ml )   ใส่ผงกาแฟบนฟิลเตอร์ที่เครื่องชง เขย่าให้ผงกาแฟเสมอกันดี
     ขั้นตอนที่ 3. Prewetting ( The Bloom )  รอให้กาแฟบลูม
        ตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำในเครื่องชง Chemex   รินน้ำร้อน( 92 - 94 ํ C) ถ้าไม่มีเทอโมมิเตอร์ ต้มน้ำเดิอดแล้ว รอ 30 วินาทีก็ได้   เริ่มตั้งเวลาการกลั่น 4 นาที ค่อย ๆรินน้ำร้อนให้ทั่วผงกาแฟ ถ้าเป็นกาแฟคั่วใหม่ ผงกาแฟจะบวมขึ้นให้ก๊าชออกมา ปล่อยทิ้งไว้สัก 30 - 45 วินาที
     ขั้นตอนที่ 4.  Brewing  เริ่มชง
       สำหรับกาแฟ 40 กรัม (5 - 6 ช้อนโต๊ะ) จะพอดีกับเครื่องชง Chemex
       เมื่อกาแฟบลูมได้  30 วินาทีแล้ว รินน้ำร้อนวนเป็นก้นหอย จากตรงกลางออกมายังขอบนอกของผงกาแฟ ให้น้ำผสมกับผงกาแฟจนทั่ว เมื่อผงกาแฟชุ่มน้ำแล้ว ให้รินน้ำเฉพาะตรงกลางผงกาแฟ
     ขั้นตอนที่ 5. Finish Brew สิ้นสุดการชง
      รักษาอัตราความเร็วของการรินน้ำร้อนบนผงกาแฟ ให้ได้ 4 นาทีพอดีสำหรับการชง ถ้าอัตรารินน้ำถูกต้อง ผงกาแฟบดพอดี จะเห็นผงกาแฟชุมน้ำพอดี ไม่แห้งหรือไม่นองด้วยน้ำ จะไม่มีจุดดำ ๆ ขาว ๆ บนกาแฟ สีกาแฟจะสม่ำเสมอดี
     การรินน้ำต้องเร็วและวนสม่ำเสมอ ผงกาแฟชุ่มน้ำพอดีไม่เลอะเทอะ หรือเกาะติดผนังเครื่องชง   เมื่อระดับน้ำกาแฟได้ 600 ml  เวลากาชงจะได้ 4 นาทีพอดีถ้าเสร็จเร็วกว่า 4 นาที ก็ให้บดกาแฟละเอียดขึ้น ถ้าช้ากว่าก็ให้บดหยาบลง
     ขั้นตอนที่ 5.  Composting
     ค่อย ๆ รวบฟิลเตอร์ เอากากกาแฟทิ้ง จะได้น้ำกาแฟที่มีอชิดิตี่ต่ำ หอมหวาน แล้วรินน้ำกาแฟใส่ถ้วย เสพอย่างรื่นเริง






      3.  Brew Rail ชงกาแฟเป็นราว
      เป็นการชงกาแฟแบบ ดริป หรือรินน้ำร้อน บนผงกาแฟในเครื่องชงคราวเดียวกันหลายๆเครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องชงวางเรียงกันเป็นราว คล้ายกับรางรถไฟ อางมี 3 ถึง 10 กว่าเครื่องเลยทีเดียว ในร้านกาแฟที่มีลูกค้านิยมดื่มกาแฟดริป จะได้รับ ออเดอร์จากลูกค้าหลายรายพร้อมกัน แต่การชงแบบดริปต้องใช้เวลา  2 -3 นาที่ต่อ ฉอท (shot) จึงจำเป็นต้องขงคราวเดียวกันหลายเครื่อง ดังรูปข้างบน การชงด้วยวิธีนี้ คนชงต้องมีความชำนาญ รสชาติของกาแฟจึงจะได้เหมือนกัน หรือเกีอบเท่ากันทุกแก้ว  การชงพร้อมกันหลายเครื่องจึงต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างดี ดังนี้
     - เครื่องชง และที่ตั้งเครื่องชง เครื่องชงอาจเป็น V 60  (single-pour over dripper)  หรืดเครื่อง เชเมคซ์ (Chemex) ทำที่วางเครื่องชงโดยออกแบบเอง หรือมีวางขายตามร้านขายเครื่องชง ควรใช้อย่างน้อย 3 เครื่องขึ้นไป ถึง 10 กว่าเครื่องดังรูป
     -เครื่องบดกาแฟ เพื่อความรวดเร็ว ควรใช้เครื่องบด ออโตเมติก
     -น้ำร้อน พร้อมเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิ พร้อมเตาอุ่นหรือต้ม
     - กาดริป และกาอุ่นน้ำร้อน
     -โถ รองน้ำกาแฟ
            เป็นการชงที่สนุกสนานมาก เพราะเราต้องควบคุมปัจจัยหลายอย่างพร้อมกัน ให้เสมอต้นเสมอปลาย ให้ได้น้ำกาแฟที่ได้ออกมาแต่ละแก้วมีรสชาติดีเหมือนกันทุกแก้ว เคยชงพร้อมกันที่เดียว 4 แก้วสนุกสนานมาก
       วิธีชง
     1. Pre-heating อุ่นเครื่องชง
          เตรียมเครื่องชงใส่ฟิลเตอร์ ทั้ง 4 เครื่อง ทำความสะอาดฟิลเตอร์พร้อมอุ่นเครื่องชง โดยรินน้ำร้อนฟิลเตอร์ที่วางบนเครื่องชง เสร็จแล้วอย่าลืมเทน้ำออกจากที่รองน้ำ
     2. Dose
          บดผงกาแฟละเอียดปานกลาง ตวงกาแฟ ใส่บนเครื่องชง ทั้ง 4 เครื่อง ๆ ละ 24 กรัม เขย่า เกลียผงกาแฟให้เสมอดี
     3. Pre Fusion
          ใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 90 - 96 องศา C . ค่อยๆ รินบนผงกาแฟให้ชุ่มที่ละแก้ว ทั้ง 4 แก้ว พอเสร็จแก้วแรกก็เริ่มจับเวลา รอให้กาแฟ บลูม (Bloom) 30 -45 วินาที
    4. Brew
          รอได้เวลา 30 วินาทีเรื่มค่อย ๆ รินน้ำนร้อนบนกาแฟแก้วแรก เหมือนกับการชงกาแฟเครื่องเดียว เริ่มรินวนเป็นก้นหอยจากกลางสุดออกมาเกลือบถึงขอบนอกแล้ววนกลับเข้าไปจบที่กลางสุด  และไปเริ่มที่แก้วที่ 2 จนถึงแก้วที่ 4 จะครบรอบ ออกมารินบนแก้วที่ 1 ใหม่โดยไม่ได้หยุดเลย และเติมน้ำร้อนจากกาอุ่นน้ำร้อนใส่กาดริปให้พอ และควบคุมอุณหภูมิน้ำร้อนให้ได้คงที่ตลอดการชง ใช้เวลาการชง 2 - 3 นาที ให้ได้น้ำกาแฟ แก้วละ 400 ml  ลองเอามาชิม(Blind Cup) รสชาติกาแฟแต่ละแก้วเหมือนกันมีความอร่อยเท่ากัน ฝีมือไม่ตก


     4.Kone  ฟิลเตอร์ 
            ฟิลเตอร์กรองกาแฟ Kone  ทำด้วยสแตนเลส ทรงกรวยดังรูปข้างบน  ด้วยเหตุผลและความเชี่อว่า เป็นฟิลเตอร์ที่ยอมให้น้ำมันต่างในกาแฟเล็ดลอดออกมาได้ง่าย มากกว่าฟิลเตอร์กระดาษ จึงทำให้รสชาติของกาแฟมี บอดิ้สูงกว่าฟิลเตอร์กระดาษ
     นักประดิษฐแสวงหาแนวทาง การผลิตฟิลเตอร์ที่กรองเอาน้ำกาแฟออกมาได้ดีที่สุด คงทนถาวร ประหยัด ปลอดภัย ไร้กลิ่น  จึงคิดค้นฟิลเตอร์ kone ออกมา
     ฟิลเตอร์ kone มีหลายขนาด สามรถใช้กับเครื่องชง chemex 6.8 และ 10 ถ้วย และมีขนาดเล็กใชกับ
V 60 (single-pourover dripper)

   



     5. V 60
          V 60 หรือ single-pourover dripper เป็นเครื่องชงดริปแบบ แมนนวลดริป  (manual drip)  เป็นการ
ดริปกาแฟด้วยมือ ชาวญี่ปุ่น เป็นชาติที่นิยมดื่มกาแฟดริปมาก และชาวยุโรปแถบสแกนดิเนเวียก็นิยมดื่มเช่นกัน
     การดริปกาแฟแบบแมนนวลดริป(manual drip) เป็นทักษะการใชมือล้วนๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์ และศีลปะ
     ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ก็เพราะในเมล็ดกาแฟคั่วมีสารหลายพันชนิด ที่ให้ทั้งกลิ่นและรสชาติ ผงกาแฟบดที่ทำปฏิกิริยากับน้ำในอุณหภูมิต่างกัน จะได้รสชาติออกมาต่างกัน และระยะเวลาในการกลั่นกาแฟ(contact time ) ระยะเวลาที่กาแฟกับน้ำอยู่ด้วยกัน ก็ขึันอยู่กับอุณหภูมิที่กลั่นกาแฟ เราสามรถกลั่นกาแฟ จากน้ำเย็น ศูนย์องศา จนถึงน้ำเดือด เช่น การกลั่นแบบโคลด์ดริป(cold drip) ใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมง  การกลั่นแบบ ไอบริก อุณหภูมิจุดเดือด ใช้เวลาแค่อึดใจ
      ระดับการคั่วเมล็ดกาแฟ ก็ส่งผลให้ได้สารในกาแฟแตกต่างกัน ทำให้รสชาติของกาแฟแตกต่างกัน  อีกทั้งวิธีกลั่นกาแฟ และเครื่องชง ล้วนส่งผลถึงรสชาติของกาแฟทั้งสิ้น เป็นวิทยาศาสตร์
     ที่ว่าเป็นศิลปะนั้น แมนนวลดริป ผู้ชงต้องควบคุมปัจจัยหลายอย่างพร้อมกัน
     1 เรื่องเมล็ดกาแฟ ต้องรู้ถึงการ เลือกกาแฟที่มีคุณภาพ  ชนิดกาแฟ ระดับการคั่ว การบดกาแฟ  ปริมาณกาแฟที่ใช้ ให้เหมาะสม
     2 อุณหภูมิของน้ำร้อนที่ใช้กลั่นกาแฟ กาแฟแต่ละชนิด แหล่งปลูก ระดับการคั่ว ผู้ชงต้องค้นหาอุณหภูมิที่เหมาะสมกับกาแฟแต่ละชนิด ที่จะดึงเอาธรรมชาติของกาแฟออกมาได้มากที่สุด
     3 ระยะเวลาการกลั่นกาแฟ ต้องมีเทคนิคในการรินน้ำร้อน รู้จักจังหวะหนักเบา ให้พอเหมาะกับเวลา
     4 เครื่องชงที่เหมาะสม ฟิลเตอร์ และทักษะอื่นๆที่ทำให้กาแฟรสชาติดี
         ควบคุมปัจจัยทั้ง 4 ให้คงที่สม่ำเสมอทุกคร้ัง เมี่อค้นพบจุดอร่อยสุดยอดของแต่ละปัจจัยในกาแฟแต่ละชนิด รสชาติของกาแฟอร่อยเหมือนเดิมทุกแก้ว นี้คือเป้าหมายของเรา
                                 V 60 คืออะไร?
     แรกเริ่มรูปทรงของเครื่องชงกาแฟ แมนนวลดริป(single-pourover dripper) มีหลากหลายรูปทรง ทรงปากเป็นวงรี ก้นแบน มีรูเล็กให้น้ำกาแฟไหล หนึ่งรูบ้าง สองรูบ้าง และสามรู ต่อมาได้พัฒนารูปทรงมาเป็นแบบทรงกรวย ปากกลม ก้นเป็นรูใหญ่ให้น้ำกาแฟไหลได้สะดวก เรียกเครื่องชงแบบนี้ว่า V 60  ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า V 60 คือเครื่องชงรูปตัว วี(V) ทรงกรวย 60 องศา เพื่อให้น้ำกาแฟไหลได้ดี น้ำมันในกาแฟไหลออกได้สะดวก
     เจ้า  V 60 นี้แหละ เป็นพื้นฐานของวิธีกลั่นกาแฟหลายชนิด เช่น clever dripper, chemex, Brew rail
แมนนวลดริป(manual drip) เป็นวิธีกลั่นกาแฟที่น่าสนใจที่สุด แตกต่างจากการกลั่นกาแฟด้วยวิธีอื่นๆทั้งหลาย ดูง่ายๆ แต่ลึกๆแล้วเป็นศิลปะชั้นสูง ต้องใช้ความเพียรพยายามในกาฝึกฝนด้วยการรืนน้ำร้อนด้วยมืออย่างมีศิลปะ ด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดความชำนาญ คุณจะภาคภูมิใจในการกลั่นกาแฟที่มีความอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ไม่ยอมไปดื่มกาแฟที่ชงด้วยวิธีอื่นอีกเลย

                                                      วิธีกลั่นกาแฟด้วย V 60
               -ล้างฟิลเตอร์ Rinse Filter
     เอาฟิลเตอร์ใส่ในเครื่องชง V 60 แล้ววางเครื่องชงบนที่รองเครื่อชง หรือถ้วย ล้างฟิลเตอร์ด้วยการรินน้ำร้อนจัดใกล้จุดเดือดบนฟิลเตอร์ในเครื่องชง น้ำร้อนจะกำจัดกลิ่นกระดาษออกจาดฟิลเตอร์ นี้คือกุญแจดอกแรกที่สร้างความอร่อย ฟิลเตอร์ จะเกาะติดผนังเครื่องชง ปล่อยใหน้ำกาแกฟไหลผ่านได้
สะดวกเมื่อกลั่นกาแฟ ล้างเสร็จแล้วเทน้ำทิ้ง
              -ตวงกาแฟ Weigh Coffee
     มีวิธีการตวงกาแฟสำหรับชงแบบดริป 2 วิธี
          1.เพื่อความเทียงตรงแน่นอน ส่วนมากจะใช้ตาชั่ง(scale)ดิจิตอล อ่านเป็นตัวเลข เนื่องจากเมล็ดกาแฟคั่วต่างระดับกัน กาแฟคั่วเข้มน้ำหนักลดลง แต่ปริมาตรขยายตัวมากขึ้น ส่วนกาแฟที่คั่วระดับอ่อน จะมีน้ำหนักมาก ขนาดเมล็ดกาแฟยังไม่ขยายตัวเต็มที่ปริมาตรจึงน้อย ด้วยเหตุผลนี้เอง เวลใช้ช้อนตวงกาแฟมาบดเพื่อดริป ระดับปริมาตรกาแฟคั่วอ่อนกับคั่วเข้มเท่ากัน แต่น้ำหนักกาแฟต่างกัน จึงไม่เที่ยงตรงเท่ากับชั่งน้ำหนัก อัตราการชง ระหว่างน้ำหนักเมล็ดกาแฟ  และน้ำหนักของน้ำ จะเท่าเดิมทุกครั้ง
          2. วิธีตวงกาแฟโดยใช้ช้อนตวง ช้อนตวงที่ติดมากับเครื่องชง จะมีขีดบอกจำนวนเอาไว้ 12, 10, 8
กรัม  ถ้าไม่มีหรือไม่สะดวก ก็ใช้ช้อนโต๊ะตวง  จำนวน 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 7 กรัม โดยประมาณ
         ในที่นี้ขอใช้วิธีตวงด้วยช้อน อัตราส่วนกาแฟต่อน้ำร้อน กาแฟหนัก 28 กรัม(ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ) น้ำกาแฟที่ได้ 12 ออนด์(360 มล.) ชงดื่มเองเพิ่มลดความเข้มความอ่อนเอาตามชอบใจ ส่วนตัวผมชงดื่มเองชอบอัตราส่วน กาแฟ 25 กรัม ต่อน้ำกาแฟ 200 ML.
        ( ถ้าใช้ตราชั่งดิจิตอล ใช้อัตราส่วน กาแฟหนัก 24 กรัม ต่อน้ำร้อนหนัก 390 กรัม)
               -บดเมล็ดกาแฟ Grind Coffee
       ใช้กาแฟบดหยาบปานกลาง Medium coarse และใช้กาแฟคั่วระดับปานกลาง Full City Roast
               -ใส่ผงกาแฟบด Add Ground 
     เติมผงกาแฟบดในเครื่องชง  เขย่าให้ผงกาแฟเสมอกันดี
          (ถ้าชงด้วยวิธีใช้ตาช้่งดิจิตอล ให้วางเครื่อชงบนตาชั่ง รีเช็ตตาชั่งเป็นเลข 0 เติมผงกาแฟบดจนอ่านได้ 24 กรัม)
                -เริ่มต้นให้กาแฟบลูม Start Bloom 
     ทำเครื่องหมายเล็กๆบนกลางผงกาแฟในเครื่องชง กว้าง 2 ซม. ลึก 1 ซม. เครื่องหมายนี้จะทำให้รินน้ำร้อนได่แม่นยำ ใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 90 ถึง 96 องศา C (อุณหภูมิน้ำร้อนนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดเมล็ดกาแฟ ผู้ชงต้องทดลองชงเอาจุดที่กาแฟอร่อยที่สุด ตรงนี้แหละแมนนวลดริป ได้เปรียบออโตดริปซึ่งใช้แต่อุณหภูมิเดิมๆ)
     รินน้ำร้อนตรงเครื่องหมายที่ทำไว้บนผงกาแฟในเครี่องชง ให้ผงกาแฟชุ่มจนทั่วถึงแต่ไม่ต้องรินให้มาก เป็นการปลุกกาแฟให้ตี่น (แรกๆหัดชง หยอดน้ำร้อนเบามาก กาแฟไม่ค่อยบลูม มาจับเคล็ดลับได้ว่า รินคร้่งแรกต้องรินน้ำร้อนใหแรงพอสมควรแต่ปริมาณน้อย เป็นการกระตุ้นกาแฟให้ตื่น กาแฟจะบลูมดีขึ้น)
               -ปล่อยให้กาแฟบลูม Continue Bloom
     เริ่มจับเวลา ปล่อยให้กาแฟบลูม 20 ถึง 30 วินาที
               -เริ่มกลั่นกาแฟ Begin Brew
     หลังจากกาแฟบลูมได้ 30 วินาทีแล้ว เริ่มต้นกลั่นกาแฟตรงนี้แหละเป็นการใช้เทคนิคและศิลปะล้วน ๆ เป็นการกระตุ้นให้กาแฟเผยธาติแท้ของธรรมชาติกาแฟออกมา มีวิธีการหลากหลาย เขียนเป็นตำราบ้าง เก็บเป็นความลับของตระกูลตัวเองบ้าง กาแฟนี้ต้องการความนุมนวลอ่อนโยนเหมือนกับเด็กๆ ความหวานสดชื่นจึงเกิด ถ้าใช้ความรุนแรง บางครั้งเด็กช็อก มีแต่ความขมขิ่นเกิดขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติกับกาแฟก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการ Pre heat , Pre fution
     แรกเริ่มค่อยๆ หยดน้ำร้อนเบาๆ ตรงกลางผงกาแฟที่บลูมนั้น จะมองเห็นกาแฟบลูมขึ้นเป็นสีทอง น้ำกาแฟเข้มข้นเริมหยดลงบนถ้วยรองรับ แล้วค่อยๆ หยอดน้ำร้อนตรงกลางไปเรี่อยๆ สม่ำเสมอ สายน้ำไหลออกจากปากกาดริป เบาจนเกือบเป็นหยดน้ำร้อน เป็นเส้นตรงตั้งฉากกับผิวกาแฟ ไหลลงสู่กลางผงกาแฟบนเครื่องชง ค่อย ๆ เริ่มหมุนวนออกด้านนอกเป็นก้นหอยตามเข็มนาฬิกา ไปจนเกือบสุดขอบนอกของผงกาแฟ แล้ววนเข้าด้านในเป็นก้นหอยจบตรงกลางเครื่องชง  แล้วค่อย ๆ วนออกด้านนอกอีกแล้ว
กลับมาจบตรงกลางเช่นเดิม อัตราการไหลของสายน้ำร้อนสม่ำเสมอนุ่มนวล (ผู้ชงต้องคำนวณไว้ในใจว่าปริมาณน้ำกาแฟตามอัตราส่วนการชง 12 ออนซ์ ใช้เวา 2.5 ถึง 3 นาที นี้คือ  Contact Time ทุกอย่างจะลงตัวขึ้นอยู่กับ
     1. ปริมาณของผงกาแฟที่ใช้ ต้องตวงหรือชั่งให้ได้ปริมาณพอดี
     2. การบดผงกาแฟความหยาบหรือละเอียดพอเหมาะ
     3. ความเร็วของกระแสน้ำร้อนที่ริน
          สมมุติว่าปริมาณผงกาแฟ และการบดผงกาแฟถูกต้อง เมื่อตัวแปร 2อย่างถูกต้อง เหลือแต่เทคนิคการรินน้ำร้อน ช้าหรือเร็ว ซึ่งมีผลกับรสชาติของกาแฟที่ออกมา ข้อสังเกตุเมื่อจบกระบวนการชง ผงกาแฟไม่แห้งเกินไป หรือเจิงนองด้วยน้ำ มีจุดดำขาวหม่น  ถ้าถ้าการกลั่นนั้น ผงกาแฟมีจุดดำขาวหม่นบนผิวกาแฟแสดงว่า รินน้ำเร็วเกินไป contact time เกินกว่า 3 นาที เรียกว่า อันเดอร์ เอ็กซ์แทรกชั่น (Under Extraction) รสชาติกาแฟชืดไม่กลมกล่อม    ถ้ามองผงกาแฟเจื่งนองด้วยน้ำเวลาการกลั่นช้ากว่า 3 นาที เรียกว่า โอเวอร์ เอ็กซ์แทรกชั่น (Over Extraction) รสชาติกาแฟขมเฝื่อน   ผงกาแฟถูกต้องเมื่อจบกระบวนการชงพอดีจะเหมือนตอนกาแฟบลูม น้ำกาแฟจะมี Ball Micro เล็กๆกลมๆลอยเกาะเป็นแพบนผิวกาแฟ รสชาติกาแฟหวานกลมกล่อม)
               -กลั่นกาแฟต่อ Continue Brew 
     เมื่อผงกาแฟชุ่มน้ำดีแล้ว เริ่มรินน้ำร้อนต่อ โดยเริ่มจากตรงกลางเครื่องชง รินด้วยความเร็วพอสมควร เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำกาแฟถูกต้องตรงกับเวลาพอดี การรินอัตราความเร็วไม่เร็วจนน้ำท่วมเครื่องชง ต้องสามรถมองเห็นผงกาแฟ ชะลอความเร็วของกระแสน้ำร้อนไม่ใฝห้ท่วมผงกาแฟ อาจมองเห็นฟองผุดขึ้นมาสองสามฟอง กระแสน้ำร้อนผุดขึ้นมาเล็กน้อย เมื่อจบกระบวนการชง จะมองเห็นสีผงกาแฟสม่ำเสมอไม่ขาวหม่นหรือมีจุดด่างดำ
          เวลารวมทั้งหมดจากการบลูมจนจบกระบวนการชง จะประมาณ 2.5 ถึง 3 นาที เมื่อชงเสร็จยกเครื่องชงออกจากที่ชงหรือแก้ว
          -รินน้ำกาแฟเสพ Serve
                                     
      หมายเหตุ  ถ้าชงแบบใช้ตาชั่งดิจิตอล เมื่อชั่งน้ำหนักผงกาแฟเสร็จ คือ 24 กรัม แล้ว รีเช็ตตาชั่งให้เป็นเลข 0 รินน้ำร้อน หนัก 390 กรัม ให้พอดีกับเวลา 2.5 ถึง 3 นาที น้ำกาแฟที่ได้ถูกผงกาแฟสะกัดดูดไว้ได้น้ำกาแฟจริงๆ ประมาณ 300 ML. วิธีชงแบบนี้ส่วนตัวผมไม่ชอบตั้งแต่เอาน้ำไปชั่งน้ำหนัก น้ำต้องตวงปริมาตรครับผม

18 ความคิดเห็น:

  1. ได้รับความรู้มากเลยครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตั้งใจจะเขียนบล็อกไว้ให้ลูกๆ อ่านเรื่องการชงกาแฟ โดยเฉพาะ กาแฟเอสเพรสโซ่ แต่มาตืดหล่มที่กาแฟดริปยังไปไม่ถึงครับ

      ลบ
  2. ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ นะคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ไม่ค่อยได้เช้ามาอัพ เดท ขอบคุณครับ แจ้งข่าว ผมได้คั่วกาแฟคั่วมือ และชงกาแฟบางตัว จำหน่ายให้ชิมเล็กน้อยทาง เฟส ครับ สนใจ inbox ไป เฟส Tan khotongdam ได้เลยครับ

      ลบ
  3. กราบขอบพระคุณมากๆ ค่ะ ที่นำความรู้ที่มีคุณค่าและกลั่นจากประสบการณ์เช่นนี้ มาเผยแพร่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ครับขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ เรื่องกาแฟยังไม่จบครับทดลองไปเขียนไปครับ

      ลบ
  4. อาจารย์เขียนละเอียดมากเลยค่า ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ตั้งใจจะเขียนเรือ่งชงกาแฟเอสเพรสโซ่ ยังไปไม่ถึงครับ คั่วกาแฟขายเล็กน้อยค่าน้ำมันก่อนครับ

      ลบ
  5. ระเอียดมากเลยครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  6. ครับขอบคุณครับ เขียนเรื่องกาแฟจากความเป็นจริงในารทดลองปฎิบัติไม่อยากเท่า เขียน บทประพันธ์เกี่ยวกับกาแฟครับ

    ตอบลบ
  7. ได้ความรู้เรื่องกาแฟ และกาแฟดริปมากมาย ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ เข้าไปอ่านในเฟส tan kh0t0ngdam ก็ได้ความรู้ครับ

      ลบ
  8. ดีจังค่ะ...ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆแบบไม่มีกั๊กเลยนะค่ะ..น่ารักมากค่ะ..^__^

    ตอบลบ
  9. ขอบคุณครับ เชิญติดตามที่ Face Book ครับ

    ตอบลบ
  10. ขอบพระคุณมากครับ ปลื้มปริ่มมากมายครับ ขอบพระคุณที่แบ่งปันความรู้มากมาย ป.ล. แอบกดติดตามที่เฟสบุคเรียบร้อยแล้วครับ ^^

    ตอบลบ
  11. ชอบคุณสำหรับสิ่งดีๆที่แบ่งปันนะคะ...คือตอนนี้ซื้อเครื่องดริปกาแฟมานะคะยังใช้ไม่เป็นเท่าไร อยากรู้ปริมาณน้ำและผงกาแฟต่อแก้วนะคะว่าแค่ไหนถึงจะได้รสชาติที่กลมกล่อม

    ตอบลบ
  12. บอกตามตรงครับ อ่านแล้วขนลุก นี่คือศาสตร์แห่งกาแฟขนานแท้
    เลยนะครับ ข้อมูลละเมียด ราวกับได้ลิ้มรสชาติกาแฟชั้นเลิศเลย
    คุณลุงต้องถ่ายทอดภูมิปัญญาไว้นะครับ สุดยอดเลยครับ
    ขอบคุณมากครับที่นำข้อมูลมาแบ่งปัน ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้ศึกษา

    ตอบลบ
  13. ขอบคุณครับยังมีเกร็กความรู้เรื่องกาแฟอีกมากมายที่ได้จากประสบการณ์ เชิญติดตามใน เฟส Tan khotongdam 8iy[

    ตอบลบ